เรียนบัญชี จบมาทำงานอะไรได้บ้าง
10/01/2559 | 10,008
การเรียนเป็นการสร้างโอกาสการเรียนรู้ในชีวิตอย่างการมีสังคม การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การพร้อมยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง การมีทักษะความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากครูบาอาจารย์ และที่ขาดไม่ได้คือการสร้างอาชีพเมื่อจบการศึกษา ซึ่งแต่ละคนใช้เวลากับการเรียนไม่เท่ากัน หากนับเส้นทางการเรียนตั้งแต่อนุบาลเด็กน้อยจนถึงรั้วมหาวิทยาลัยเด็กโตอย่างน้อยต้องใช้เวลา 18 -19 ปี เกือบหนึ่งสี่ของทั้งชีวิต
ดังนั้น การเลือกเรียนสาขาวิชาใดสำหรับเด็กที่เริ่มจบการศึกษาในปี 2558 และเข้าศึกษาต่อในปีใหม่ถึงนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญเป็นแนวทางนำผู้เรียนไปสู่หนทางสร้างงานต่อไปในอนาคต ซึ่งสายวิชาเรียนที่ได้รับความนิยมทุกปี ไม่เว้นแม้แต่ปีแห่งการเริ่มต้นใหม่ 2559 นี้ไม่แพ้ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ นั่นคือ พาณิชย์และการบัญชี ที่ผู้เรียนทุกคนได้ตั้งความหวังว่าเมื่อจบการศึกษาจะต้องสามารถหางานทำได้อย่างแน่นอน และนั่นก็เป็นความจริงเพราะบัญชีเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับทุกองค์กร ทำให้ผู้ที่เรียนบัญชีสามารถเลือกทำงานได้มากมาย โดยวิชาชีพในปีใหม่ 2559 ที่เหมาะกับผู้เรียนบัญชี มีดังต่อไปนี้
1.เจ้าหน้าที่บัญชีและเจ้าหน้าที่การเงิน ประจำหน่วยงานราชการและเอกชน อย่างกระทรวง ทบวง กรม องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรมสรรพากร และสถานที่ราชการอื่น ๆ รวมทั้งบริษัทขนาดใหญ่ ถึงเล็ก ร้านทั่วไป และสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ เพราะงานราชการและธุรกิจทุกประเภทต้องมีกิจกรรมการรับเงิน-จ่ายเงินที่ได้จากรัฐบาลหรือทำมาหาได้ของตนเอง มีการติดต่อกับบุคคลและหน่วยงานภายนอก มีการซื้อ-ขาย มีการวางบิลใบเสร็จ และทุกรายไตรมาส ครึ่งปี สิ้นปี จะต้องสรุปยอดเพื่อดุลบัญชี ซึ่งนั่นทำให้ผู้เรียนบัญชีเป็นที่ต้องการขององค์กรต่าง ๆ ทั้งที่แสวงหาและไม่แสวงหากำไร
2.ผู้ตรวจสอบบัญชี ประจำสำนักงานบัญชีของหน่วยงานราชการ เอกชน หรือรับอิสระ อาชีพนี้เป็นหนึ่งทางเลือกที่ผู้เรียนบัญชีต่างใฝ่ฝันอยากทำเกือบทุกคน เพราะตรงกับสายวิชาเรียนที่สุด ได้ใช้ความรู้ความสามารถได้อย่างเต็มที่โดยยึดตามหลักมาตรฐานทางบัญชี ซึ่งหากได้ทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง น่าเชื่อถือ ก็เป็นการสร้างรายได้มากกว่าอาชีพอื่น อย่างไรก็ตามผู้เรียนบัญชีต้องผ่านการทดสอบ CPA ตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชีทุกประการ และต้องได้รับอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชีก่อนจึงจะได้เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
3.ผู้สอบบัญชีภาษีอากร ประจำหน่วยงานเอกชน หรือรับอิสระ ซึ่งเป็นงานที่คล้ายกับผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแต่จำกัดขนาดธุรกิจตรวจสอบทำบัญชีเท่านั้น โดยทำหน้าที่เพียงตรวจสอบและรับรองห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท ขนาดสินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท โดยทั่วไปรายได้จากการตรวจสอบบัญชีกิจการของผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต่ำกว่าที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต อย่างไรก็ตามผู้เรียนบัญชีต้องผ่านการทดสอบตามหลักเกณฑ์ของ TA และต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากรจึงจะได้เป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร
4.เจ้าหน้าที่สินเชื่อและเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์ประจำสถาบันการเงิน เป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ ต้องการความละเอียดและลดความเสี่ยงทุกขั้นตอน เพราะมีความเกี่ยวข้องกับตัวเงิน การดุลงบเข้าออกประจำวัน การจัดทำงบการเงิน การวิเคราะห์งบการเงิน และการตรวจความถูกต้องของบัญชี เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและปิดความผิดพลาดให้น้อยที่สุด
5.อาจารย์ประจำสถาบันการศึกษา ซึ่งอาจประกอบเป็นงานหลัก หรืองานเสริมอย่างการเป็นอาจารย์พิเศษ นอกจากนั้นยังสามารถรับสอนพิเศษ เป็นวิทยากรให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจเพื่อเสริมความเข้าใจด้านบัญชี การวางแผนและจัดทำบัญชีให้มากยิ่งขึ้น เพราะวิชาบัญชีไม่ใช่เพียงการท่องจำ แต่ต้องอาศัยความเข้าใจ และทดลองปฏิบัติ จึงจะสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้อย่างถ่องแท้
6.ที่ปรึกษาทางบัญชีและการเงิน การวางแผนด้านภาษี ซึ่งเป็นอาชีพอิสระที่สามารถช่วยเจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูง หรือผู้ที่ไม่มีเวลาและความเข้าใจในการจัดการด้านการวางแผนการเงิน/บัญชี เพื่อสร้างรายได้และลดหย่อนภาษี อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบอาชีพนี้จะต้องหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ศึกษาเรียนรู้รอบด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจ การเงินการลงทุน ในประเทศและต่างประเทศ สังคม การเมือง นโยบายรัฐบาล จะได้สามารถแนะนำผู้ที่ปรึกษา และส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ ชื่อเสียง ความชำนาญพอสมควร จึงจะได้รับความเชื่อถือจากผู้ประกอบการ
7.นักเขียนเกี่ยวกับวิชาบัญชี ซึ่งอาจเขียนหนังสือหรือเป็นบล็อกเกอร์ในเว็บไซต์ให้ความรู้สู่ผู้ที่สนใจ และหากเพิ่มความรู้ด้านอื่น เช่น ด้านคอมพิวเตอร์ ก็สามารถรับจ้างสร้างโปรแกรมบัญชีที่มีหลายแขนงให้กับบริษัทต่าง ๆ ได้
เมื่อเลือกเรียนบัญชีและจบมามีงานทำแล้ว นอกจากความขยัน และความตั้งใจในงานที่รับผิดชอบ ยังต้องพยายามขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม เพราะการบัญชีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อให้เกิดความทันสมัย และยังเป็นการสร้างโอกาสทางเลือกให้กับผู้ศึกษามากขึ้นเมื่อต้องการความก้าวหน้าหรือเปลี่ยนงานต่อไปในอนาคต
โดดเด่น
เครือข่ายมหาวิทยาลัย
บทความอื่นๆ
แนะนำ 5 อาชีพสำหรับ MBTI - INFJ บุคลิกของผู้แนะนำ จะมีอะไรบ้างมาดูกันเลย
- 06/11/2567
- 70
แนะนำ 5 อาชีพสำหรับ MBTI - ISFJ ผู้ให้ จะมีอะไรบ้างมาดูกันเลย
- 28/10/2567
- 92
แนะนำ 5 อาชีพสำหรับ MBTI - INTP นักวิเคราะห์ จะมีอะไรบ้างมาดูกันเลย
- 24/10/2567
- 98
แนะนำ 5 อาชีพสำหรับ MBTI - ISTJ ผู้ตรวจสอบ จะมีอะไรบ้างมาดูกันเลย
- 11/10/2567
- 192
แนะนำ 5 อาชีพ สำหรับชาว Introvert ที่เตรียมตัว หางาน สมัครงาน จะมีอะไรบ้างมาดูกันเลย
- 09/10/2567
- 154
สอนทำเรซูเม่กับ 4 ไอเดียสำหรับสายอาชีพ - อาชีวศึกษา
- 02/10/2567
- 148
วิศวกรระดับ 4 คือตำแหน่งที่หลายคนในวงการวิศวกรรมใฝ่ฝันจะก้าวไปให้ถึง
- 17/09/2567
- 193